ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ
หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ
วัดบางพระ
ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
๏ อัตโนประวัติ
“พระอุดมประชานาถ” หรือ “หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ” มีนามเดิมว่า เปิ่น ภู่ระหงษ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ครั้งนั้นในแถบถิ่นเมืองนครชัยศรี ได้มีทารกน้อยซึ่งมากล้นด้วยบุญญาธิการมาอุบัติ ด้วยลักษณะที่ผิวพรรณผ่องใสผิดไปจากพี่น้องซึ่งอยู่ด้วยกันทั้งหมดเวลานั้น ณ บ้านเลขที่ ๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายฟัก และนางยวง ภู่ระหงษ์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา อันเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในแถบนั้น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๐ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๙ มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑. นางจันทร์ อ่ำระมาด (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. นางอินทร์ คงประจักษ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๓. นายเถิ่ง ภู่ระหงษ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. นายชุ ภู่ระหงษ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. นางไว ภู่ระหงษ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๖. นายเลื่อน ภู่ระหงษ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๗. นายไล้ ภู่ระหงษ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๘. นางรอง ภู่ระหงษ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๙. หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ (มรณภาพแล้ว)
๑๐. นางอางค์ เฮงทองเลิศ
๏ ชีวิตปฐมวัย
ชีวิตปฐมวัยขององค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างเป็นที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าในสมัยนั้นแถบถิ่นลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี อุดมมากไปด้วยวิชาอาคม อาจเนื่องด้วยที่นั่นไกลปืนเที่ยง ในตอนนั้นการเรียนรู้วิชาเอาไว้เพื่อป้องกันตัวจึงถือเป็นหนึ่งในลูกผู้ชาย ทุกคนจักพึงมี
หลวงพ่อเปิ่นสนใจในเรื่องของไสยศาสตร์มาตั้งแต่สมัยเด็ก อาศัยว่าครอบครัวของท่านอยู่ใกล้กับ วัด บางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งในสมัยนั้นมีพระคุณเจ้าที่พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดบางพระ มีความเก่งกาจมีความเชี่ยวชาญในสายไสยศาสตร์หลายองค์ เด็กชายเปิ่น ภู่ระหงษ์ จึงเข้าออกเพื่อความอยากรู้อยากใฝ่หาในวิชาอยู่กับวัดบางพระเป็นประจำ
ในช่วงนี้เองโยมบิดาซึ่งเห็นแววของเด็กชายเปิ่นมาตั้งแต่เล็กๆ ว่ามีจิตใจอันเด็ดเดี่ยวและมีสัจจะเป็นยอด จึงได้ถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งวิทยาการ คาถาอาคมที่โยมบิดาพอมีอยู่ให้กับเด็กชายเปิ่น ถือเป็นรากฐานเบื้องต้นตั้งแต่บัดนั้น ครั้นต่อมาครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากทำมาหากินที่จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านทุ่งคอก ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ณ ที่นี่เองที่เด็กชายเปิ่นได้ฉายความเป็นนักเลงจริง เป็นคนจริงให้เห็น เพราะการอยู่ในดงนักเลงที่เป็นคนจริง จะต้องเป็นคนจริงไปด้วยโดยปริยาย
เมื่อถึงจุดนี้ผู้ชายไทยใจนักเลงทุกคนจึงต้องหาอาจารย์ศึกษาในทางด้านไสยเวท เพื่อไว้ป้องกันตัวเองบ้าง เพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมีให้แก่ตนเองบ้าง เด็กชายเปิ่นจึงต้องขวนขวายหาครูบาอาจารย์ผู้เรืองเวทวิทยาคม เพื่อศึกษาหาวิชามาไว้ป้องกันตัวเอง ได้เวทมนตร์คาถาเอามาท่องจำเป็นอย่างนี้อยู่ตลอด
จนกระทั่งได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ของ พระ ครูสุวรรณสาธุกิจ (หลวงพ่อแดง) วัดทุ่งคอก ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ศิษย์เอกของหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน พระคุณเจ้าเก่งพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะเก่งกล้าเป็นอย่างมากทางด้านกัมมัฏฐานและไสยเวท นี่เองคือจุดเริ่มความเก่งกาจของเด็กชายเปิ่น
ในเวลานั้นหลวงพ่อแดง แห่งวัดทุ่งคอก ท่านเสมือนจะทราบว่าเด็กชายเปิ่นคนนี้มีแววแห่งผู้ขมังเวทย์อย่างแน่นอน อีกทั้งจิตอันใสบริสุทธิ์สะอาดผนวกกับเป็นคนจริง ท่านจึงได้ถ่ายทอดในสายวิชาของท่านพร้อมวิชาไสยเวทต่างๆ ให้กับเด็กชายเปิ่นทุกอย่างที่สอนได้ ด้วยความที่ตนเองใฝ่หาวิชาทางนี้โดยตรง ความรู้ที่หลวงพ่อแดงมอบให้เด็กชายเปิ่นจึงได้รับไว้อย่างมากมาย
ที่สำคัญในช่วงนั้นนั่นเองที่เด็กชายเปิ่นเติบโตขึ้นเป็นนายเปิ่นแล้ว ได้พบเจอกับเพื่อนที่มีความอยากรู้ อยากเรียน อยากทราบในสายไสยเวทเหมือนกัน จึงเป็นที่ถูกคอกันยิ่งนัก ซึ่งต่อมาเพื่อนคนนี้ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา นามว่า พระครูจันทคุณาภรณ์ (หลวงพ่อจำปา จนฺทูปโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ (วัดอินทราวาส) แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ และอดีตเจ้าคณะแขวงบางเชือกหนัง เขต ๑ ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาให้ความเคารพเลื่อมใสมากมาย (ปัจจุบันมรณภาพแล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓)
นายเปิ่นศึกษาวิชากับหลวงพ่อแดง แห่งวัดทุ่งคอก อยู่จนถึงเวลาที่ครอบครัวย้ายกลับสู่ถิ่นฐานเดิมคือ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อีกครั้ง ซึ่งพอดีถึงเวลาอายุครบเกณฑ์ทหาร ในสมัยนั้นการเกณฑ์ทหารแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือทหารประจำการ กับทหารโยธา การเข้าเกณฑ์ทหารในครั้งนั้น นายเปิ่นได้ถูกคัดเลือกให้เป็นทหารโยธา ผลัดที่ ๒ แต่นายเปิ่นก็ไม่ได้เป็นทหารรับใช้ชาติ เพราะทางการประกาศยุบเลิกทหารโยธาเสียก่อน จึงต้องช่วยโยมบิดา-โยมมารดาทำไร่ทำนาเรื่อยมา
สมัยนี้เองที่นายเปิ่นได้รับการถ่ายทอดวิชาสักยันต์อันเกรียงไกรจาก หลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระ (ในเวลานั้น) แน่นอนที่สุดนี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตขององค์หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เพราะวิชาที่ได้รับการถ่ายทอดมาล้วนเป็นวิชาที่สุดยอดทั้งสิ้น
หากมองย้อนกันกลับไป หลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระ (ในเวลานั้น) หากเทียบกันในเรื่องไสยเวทคาถา จัดได้ว่าไม่เป็นสองรองใคร เพียงแค่ท่านเพ่งกระแสจิตเท่านั้น แม้จะมีอันตรายใดๆ ก็ตามไม่สามารถกล้ำกรายเข้ามาได้ เพียงแต่องค์ท่านไม่ออกสู่สนามลองพระเวทย์สักเท่าใด อีกทั้งเรื่องยาสมุนไพรรักษาโรคก็นับว่าเป็นหนึ่งเหมือนกัน ที่อื่นหมดทางที่จะรักษาให้หายได้ แต่เมื่อได้มากราบนมัสการขอความเมตตาจากองค์ท่าน ท่านจะปรุงยาให้ไปต้มรับประทาน ก็หายได้เหมือนปาฏิหาริย์ ถือว่าเป็นวิชาพระคาถาอาคมที่ได้รับการสืบทอดความลึกลับกันมาตั้งแต่โบราณ กาล
ขณะนั้นนายเปิ่นได้เข้ารับใช้หลวงพ่อหิ่ม เพื่อความอยากเรียนในด้านไสยเวทย์จากองค์ท่านหลวงพ่อหิ่มนั่นเอง ซึ่งก็ได้รับความรักและความเมตตาเป็นอย่างดีจากท่านหลวงพ่อหิ่ม สายวิชาพระเวทย์ลึกลับตั้งแต่โบราณกาลจากองค์หลวงพ่อหิ่ม จึงถูกถ่ายทอดให้กับนายเปิ่นทั้งหมด โดยไม่ปิดบังและไม่หวงวิชาแต่อย่างใด
๏ เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
ด้วยเพราะในช่วงที่เป็นหนุ่มแน่น นายเปิ่นเข้าออกวัดบางพระทุกครั้งขณะที่ว่างจากงาน ใกล้ชิดกับวัดมากและดีที่สุด จนเมื่อถึงเวลาหนึ่งซึ่งนายเปิ่นคิดไปว่าควรจะบวชเรียน เพื่อศึกษาในสายวิชาที่ได้ศึกษามานั้นอย่างจริงจัง ซึ่งวิชาดังกล่าวจะให้ได้ผลอย่างจริงจังจิตใจจะต้องนิ่งสงบ ไม่มีทางใดดีกว่านอกจากบวชเรียนเท่านั้น จึงขออนุญาตโยมบิดา-โยมมารดาว่าอยากจะบวช ซึ่งทั้งสองท่านต่างก็มีความยินดี มีความปลื้มอกปลื้มใจ ที่ลูกมีจิตศรัทธาจะบวชเรียนในบวรพระพุทธศาสนา นอกจากจะได้รับอานิสงส์จากการบวชของลูกแล้ว ก็ยังเป็นการที่ลูกจะตอบแทนพระคุณตามโบราณกาลที่ถือเนื่องกันมาโดยลำดับ
ดังนั้น ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ท่านจึงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางพระ จังหวัดนครปฐม โดยมีพระอธิการหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระ (ในเวลานั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทองอยู่ ปทุมรัตน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตฺธัมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ฐิตคุโณ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีคุณความดีตั้งมั่นไว้ แล้ว”
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัยตามหน้าที่ของพระนวกะ ว่างจากงานก็ปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์ซึ่งท่านชราภาพมากแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาวิชาการต่างๆ จากท่านด้วย ท่านก็ได้ให้ความเมตตาอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้ด้วยดี ที่สำคัญของพระปฏิบัติก็คือกัมมัฎฐาน จิตใจเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุด เวทมนต์คาถาจะขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะจิต ด้วยเหตุดังกล่าวหลวงพ่อจึงเน้นการปฏิบัตินี้มาก และได้ฝึกหัดให้ชำนาญ ยิ่งกว่านั้นท่านยังได้รับถ่ายทอดอักขระโบราณ เป็นรูปแบบยันต์ต่างๆ การลงอาคมคาถาตามทางเดินของสายพระเวทย์ กล่าวกันว่าอักขระที่หลวงพ่อเปิ่นลงหรือเขียนนั้น สวยงามมีเสน่ห์เป็นยิ่งนัก
ในช่วงเวลา ๔ ปีกว่าๆ ที่อยู่รับใช้และเล่าเรียนวิชาอาคมต่างๆ จากหลวงพ่อหิ่ม ก็รู้สึกภูมิใจมากที่ไม่เสียทีได้เข้ามาบวชในบวรพระพุทธศาสนา ทำให้รู้และเข้าใจในวิชาการต่างๆ และอยู่ปรนนิบัติรับใช้จนถึงกาลที่หลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต ละสังขาร (มรณภาพ) ซึ่งนับเป็นศิษย์องค์สุดท้ายที่ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อหิ่ม
อย่างไรก็ดี การศึกษาเล่าเรียนใดๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แม้นได้รับจากหลวงพ่อหิ่มมาก็ยังไม่อิ่มในรสแห่งพระธรรม เสร็จจากงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อหิ่มแล้ว ก็ตั้งใจจะออกจาริกแสวงหาสัจจธรรมต่อไปอีก และในจุดประสงค์ลึกๆ ของหลวงพ่อเปิ่นนั้นต้องการแสวงหาพระอาจารย์เพื่อศึกษาพระเวทย์ จึงเข้าไปกราบลาหลวงพ่อทองอยู่ ปทุมรัตน พระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธมฺโม พระอนุสาวนาจารย์ เพื่อเดินธุดงควัตรแสวงหาธรรมเพิ่มต่อไป พระอาจารย์ทั้งสองต่างก็พลอยยินดี และอนุโมทนาในการที่จะปฏิบัติธรรมเพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไป
๏ ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อโอภาสี
เมื่อได้รับอนุญาตจากพระอาจารย์ทั้งสองแล้ว หลวงพ่อเปิ่นได้ทราบข่าวกิตติศัพท์เล่าลือว่า ที่ “สำนักสงฆ์อาศรมบางมด” เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ หลวงพ่อโอภาสี (พระมหาชวน) ได้อบรมแนะนำสั่งสอนพระกัมมัฎฐาน โด่งดังมากในเรื่องเตโชกสิณ ได้มีผู้สนใจเข้าไปสมัครเป็นศิษย์กันเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อเปิ่นจึงได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ จะเป็นด้วยบุญบารมีที่เคยได้ร่วมกันมาแต่อดีตหรืออย่างไรไม่ทราบ หลวงพ่อโอภาสีเมื่อได้ทราบเจตนาดังนั้น ยินดีต้อนรับและสั่งให้พระจัดสถานที่ให้
หลวงพ่อ เปิ่น ฐิตคุโณ เคยปรารภให้ศิษย์ฟังว่า “อาตมาเรียนด้วย ปรนนิบัติท่านโอภาสีไปด้วย คงเป็นเพราะบุญบารมีของอาตมาที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนก็ว่าได้ จึงได้มีโอกาสศึกษากับท่านโอภาสี สำคัญมากๆ จริงๆ ในตอนแรกๆ นั้น อาตมาคิดว่าได้เรียนวิชาเอกไว้มากมายแล้ว และได้เรียนรู้ในข้อธรรมทั้งหลายลึกซึ้งดีแล้ว แต่ที่ไหนได้พอได้พบได้สนทนากับผู้ที่มีความรู้และภูมิธรรมสูงกว่า และเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ดำริตนให้พ้นจากอาสาวะกิเลสทั้งปวงแล้วนั้น ทำให้อาตมารู้สึกว่า อาตมาเองเหมือนกบอยู่ในกะลาครอบ จะต้องเรียนรู้ จะต้องศึกษาอีกมากมาย และยังต้องบำเพ็ญเพียรทางจิตอีกมาก จึงจะเทียบเท่าท่านผู้รู้เหล่านั้นได้
เพราะขณะนั้นอาตมายังไม่ได้ปฏิบัติตน ไม่เคยเห็นโลกกว้างเหมือนผู้รู้ผู้แสวงหา ไม่ได้ถึงธรรมอย่างแท้จริง และปฏิบัติกันอยู่แค่วิชาความรู้ทางไสยศาสตร์เพียงอย่างเดียว ไม่อาจนำพาตัวเองรอดจากเวียนว่ายตายเกิดได้เลย ต้องศึกษาปฏิบัติควบคู่กันไปเป็นพลังเสริมความมั่นคง อันก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางจิต จนกระทั่งได้พบกับแสงสว่างทางธรรมอันสมควรอีกด้วย และถ้าหากอาตมาไม่แสวงหาวิชาความรู้ต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินแล้วก็จะอยู่เพียงเท่านี้ ไม่ก้าวหน้าต่อไป วิชาก็ไม่แน่นพอ ไม่ได้เห็นแสงสว่างของทางธรรม และยังไม่ได้เข้าถึงคุณวิชาที่เข้าศึกษา จึงจำเป็นต้องไปเพื่อกาลข้างหน้าจะได้เป็นผู้รู้ได้บ้าง แต่จะได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็แล้วแต่บุญกุศลเถิดว่าจะสนองตอบเราได้เพียงไหน”
เพราะขณะนั้นอาตมายังไม่ได้ปฏิบัติตน ไม่เคยเห็นโลกกว้างเหมือนผู้รู้ผู้แสวงหา ไม่ได้ถึงธรรมอย่างแท้จริง และปฏิบัติกันอยู่แค่วิชาความรู้ทางไสยศาสตร์เพียงอย่างเดียว ไม่อาจนำพาตัวเองรอดจากเวียนว่ายตายเกิดได้เลย ต้องศึกษาปฏิบัติควบคู่กันไปเป็นพลังเสริมความมั่นคง อันก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางจิต จนกระทั่งได้พบกับแสงสว่างทางธรรมอันสมควรอีกด้วย และถ้าหากอาตมาไม่แสวงหาวิชาความรู้ต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินแล้วก็จะอยู่เพียงเท่านี้ ไม่ก้าวหน้าต่อไป วิชาก็ไม่แน่นพอ ไม่ได้เห็นแสงสว่างของทางธรรม และยังไม่ได้เข้าถึงคุณวิชาที่เข้าศึกษา จึงจำเป็นต้องไปเพื่อกาลข้างหน้าจะได้เป็นผู้รู้ได้บ้าง แต่จะได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็แล้วแต่บุญกุศลเถิดว่าจะสนองตอบเราได้เพียงไหน”
นั้นเป็นคำกล่าวขององค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น เมื่อท่านได้พบกับหลวงพ่อโอภาสี (พระมหาชวน) ท่านจึงทราบว่าท่านอยู่ในฐานะเพียงไหน
ธรรมะที่หลวงพ่อโอภาสีแนะนำสั่งสอน ท่านจะเน้นให้ตัดทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ปล่อยวาง อย่ายึดถือ โดยเฉพาะศัตรูสำคัญคือขันธ์ ๕ ให้พิจารณาแยกออกเป็นธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เห็นแจ้งชัด ละอุปาทานที่มีอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นจริงดังกล่าวแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่จะเบาบางไป
สัจจะคือความจริง ได้แก่ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ และอนัตตา ความไม่มีตัวตน ก็จะปรากฏขึ้น ได้อยู่ศึกษาและปฏิบัติกับหลวงพ่อโอภาสี ท่านได้เล่าประสบการณ์ต่างๆ ที่ท่านได้ผจญมา และบอกว่ายังมีอาจารย์เก่งๆ และดีๆ อีกเยอะในเมืองไทย หลวงพ่อเปิ่นได้อยู่รับใช้และศึกษาปฏิบัติกับหลวงพ่อโอภาสี เป็นเวลา ๑ ปีเศษ ก็กราบลาเพื่อออกธุดงควัตรต่อไป
หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ
๏ การออกเดินธุดงควัตร
เมื่อกราบลาหลวงพ่อโอภาสี จุดหมายปลายทางจะไปทางภาคเหนือก่อน เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่าทางภาคเหนือของประเทศไทยนี้ มีพระอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบเป็นจำนวนมาก ความไม่อิ่มในธรรม และใคร่จะได้ศึกษาปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้น พบอาจารย์ที่ไหนก็จะเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาธรรมจากท่าน เจริญสมณธรรมอาศัยอยู่ในป่า ตามถ้ำ ตามหุบเขาต่างๆ สิ่งแรกที่ได้รับ คือ ความกลัวหมดไป ประการที่สอง ได้กายวิเวก ประการที่สาม จิตวิเวกจะเกิดขึ้น ผลที่สุดนิรามิสสุขก็จะตามมา
สถานที่ออกเดินธุดงควัตร อาทิเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ได้ท่องเที่ยวเจริญสมณธรรมทางภาคเหนือเป็นเวลา ๒ ปีเศษ ก็คิดอยากจะเดินทางลงทางใต้บ้าง
ทางภาคใต้มีภูมิประเทศ อากาศ และธรรมชาติสวยงาม ร่มรื่นเย็นสบายดีมาก ทิวทัศน์ชายทะเล ป่าเขาลำเนาไพรไม่แพ้ทางภาคเหนือ ได้เดินทางไปพักและเจริญสมณธรรมตามที่ต่างๆ มีปัตตานี ยะลา นราธิวาส และย้อนกลับขึ้นมาที่สุราษฎร์ธานี ได้กราบนมัสการ “หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ” แห่งสวนโมกขพลาราม (วัดธารน้ำไหล) และ “หลวง พ่อสงฆ์ จนฺทสโร” แห่งวัดเจ้าฟ้าศาลาลอย ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
เมื่อเดินทางจากภาคใต้แล้ว ก็ใคร่อยากจะเดินทางไปทางทิศตะวันตก จุดหมายปลายทางคือจังหวัดกาญจนบุรี ตามกิตติศัพท์เล่าลือ ณ สถานที่นี้มีผู้แสวงหาสัจจธรรมและความวิเวก และอาจารย์เก่งๆ ก็มีมาก ถ้าโอกาสดีอาจจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ไม่มากก็น้อย
ช่วงนี้นี่เองที่ชีวประวัติ “หลวงพ่อเปิ่น” ได้หายไป ทราบเพียงว่าท่านได้จาริกธุดงค์ข้ามขุนเขาตะนาวศรี เข้าสู่เมืองมะริด ประเทศพม่า เข้าสู่บ้องตี้เซซาโว่ เกริงกาเวีย (พ.ศ.๒๔๙๖-๒๕๐๔) ซึ่งป่าแถบนั้นเป็นป่าที่ซ่อนอาถรรพ์ลี้ลับนานาประการเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากสัตว์ อันตรายจากสิ่งลี้ลับ มนต์ดำแห่งป่า สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้หลวงพ่อเกิดความหวาดกลัวแต่ประการใด ตรงกันข้ามท่านกลับมุ่งความตั้งใจจะเข้าสู่แดนลี้ลับนี้ให้ได้
ณ ป่านี้นี่เอง ที่พระธุดงควัตรหายไปอย่างลึกลับ มีมามากแล้วจะเป็นด้วยไข้ป่า ผีป่า นางไม้ วิญญาณร้ายต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือสัตว์ร้ายนานาชนิด โดยเฉพาะ “เสือสมิง”
ที่แห่งนี้จะมีตำนานเล่าขานกันมาตั้งแต่บรรพกาล ของเสือร้ายที่สามารถกลับแปลงร่างเป็นมนุษย์ หรือมนุษย์ที่ศึกษาวิชาทางด้านนี้ จนสามารถกลับกลายร่างของตนเองเป็นเสือสมิงไป และไม่ได้กลับร่างเป็นคนได้อีก เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงในสายวิชาเร้นลับวิชาหนึ่ง
ในส่วนหลวงพ่อเปิ่นท่านไม่ได้ประหวั่นพรั่นพรึงในส่วนนี้เลยแม้แต่น้อย จะเป็นด้วยเพื่อจะทดลองวิชาที่ได้เล่าเรียนมาว่าจะขลังหรือศักดิ์สิทธิ์จริง หรือไม่ จิตของท่านสงบนิ่ง ไม่ได้กลัวอะไรเลยแม้แต่น้อย
ช่วงนี้ข่าวคราวของท่านเงียบหายไปอย่างสนิท มีเพียงจากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่าเจอองค์ท่านบ้าง ชาวเขา ชาวป่า พวกกะเหรี่ยง บอกว่าเจอองค์ท่าน และท่านได้ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวป่าชาวเขามาแล้วบ้าง เป็นดังนี้
๏ รับนิมนต์เป็นเจ้าอาวาส
กระทั่งปลายปี พ.ศ.๒๕๐๔ บ่ายแก่ของวันหนึ่ง พระธุดงค์วัยเกือบสี่สิบมาปักกลดอยู่ชายทุ่ง ใกล้กับวัดทุ่งนางหลอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี พระธุดงค์องค์นี้ได้สร้างศรัทธาให้แก่ชาวบ้านอย่างมากมาย ทั้งปฏิปทาที่เคร่ง ทั้งสายวิชาพระเวท ทั้งยาสมุนไพรช่วยเหลือชาวบ้าน ยิ่งเกิดศรัทธาอันสูงสุดของชาวบ้านที่พุ่งตรงสู่พระธุดงค์รูปนี้ “หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ” คือองค์พระธุดงค์องค์นั้น
ประจวบกับวัดทุ่งนางหลอก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่มีเจ้าอาวาส มีเพียงพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่สองสามรูป จนจะกลายเป็นวัดร้างอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ที่จะช่วยพัฒนาวัดทุ่งนาวัดนางหลอกให้กลับ มาคืนมาอีกครั้ง คือองค์พระธุดงค์องค์นี้ จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อให้ช่วยพัฒนาวัดและเสนาสนะต่างๆ ให้ดีขึ้นเหมือนเดิม และให้หลวงพ่ออยู่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นที่พึ่งทางใจของพวกเขาต่อไป
ด้วยความเมตตาธรรม และเห็นว่าพอจะช่วยได้ หลวงพ่อจึงรับนิมนต์จะช่วยเป็นผู้นำให้ ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถของท่านทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านทั้งหลายที่มีความเดือดร้อน เช่น วิชาแพทย์แผนโบราณ และพระคาถาอาคมต่างๆ ที่จำเป็น ชาวบ้านทั้งหลายต่างมีความชื่นชมศรัทธาเลื่อมใสท่านมากยิ่งขึ้น
เพียงระยะเวลาไม่นานที่หลวงพ่อมาสงเคราะห์ การกระทำและการพัฒนาวัดต่างก็ได้รับความร่วมมือ มีสามัคคีดีมาก งานยากก็กลายเป็นงานง่าย เมื่อต่างก็ร่วมมือและมีความสามัคคีกันเช่นนี้ ในการพัฒนาวัดก็เจริญรุ่งเรืองไปอย่างรวดเร็ว แปลกหูแปลกตาทันตาเห็น เปรียบเหมือนเทวดามาโปรด
จึงทำให้ชื่อเสียง “หลวงพ่อเปิ่น” เป็นที่เล่าลือของชาวบ้านกว้างขวางออกไป จากคำบอกเล่าปากต่อปาก ประจวบกับจริยาวัตรอันงดงามของท่าน มีวิชาแพทย์แผนโบราณบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับทุกคนที่มีความเดือดร้อน รวมทั้งมีวิชาอาคมที่เป็นเลิศ ภายในระยะเวลาไม่ถึง ๒ ปี วัดทุ่งนางหลอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี มีความเจริญรุ่งเรืองมาก
ในช่วงดังกล่าวหลวงพ่อเปิ่นท่านเกิดป่วยกระทันหัน จำเป็นต้องเข้ามารักษาตัวในเมือง ท่านจึงได้กลับมารักษาตัวที่วัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตั้งใจไว้ว่าเมื่อหายป่วยดีแล้วก็จะกลับไปพัฒนาส่วนอื่นที่จะต้องทำอีกต่อไป
๏ สู่วัดโคกเขมา
เมื่อหายป่วยดีแล้ว ก็ตั้งใจจะกราบลาพระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธัมโม เพื่อเดินทางกลับไป ประจวบเหมาะกับที่ชาวบ้านวัดโคกเขมา มาขอพระจากพระอาจารย์เปลี่ยน ไปเป็นเจ้าอาวาสเพื่อพัฒนาวัด เนื่องจากวัดโคกเขมาไม่มีเจ้าอาวาส วัดโคกเขมานับว่าไกลปืนเที่ยงอยู่เหมือนกัน กันดารอยู่กลางป่า การเดินทางไปมาแสนลำบาก
พระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธัมโม ท่านได้บอกชาวบ้านโคกเขมาว่า “ดีแล้ว ศิษย์ของฉันเขาไปธุดงค์ เผอิญไม่สบายกลับมารักษาตัว หายดีแล้ว ก็จะกลับไปพัฒนาวัดทุ่งนางหลอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรีอีก ฉันเองก็ไม่อยากจะให้เขาไปไกล คิดถึงเขา ฉันจะให้เขาไปช่วยพัฒนาวัดโคกเขมาให้ รับรองว่าไม่ผิดหวัง ศิษย์โปรดของ หลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต”
ชาวบ้านเมื่อได้ทราบเช่นนั้น พากันปลื้มอกปลื้มใจไม่ผิดหวังแน่นอน กิตติศัพท์ “หลวงพ่อหิ่ม” ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าแน่แค่ไหน จึงกราบอาราธนาให้ท่านไปช่วยสงเคราะห์พัฒนาด้วย ท่านก็ยินดีรับด้วยความเต็มใจ เพื่อฉลองพระคุณของพระอาจารย์ที่ได้ช่วยเหลือมาตลอด
คณะสงฆ์ในตำบลแหลมบัวออกประกาศและแต่งตั้งให้ “หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ” เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๙ และนี่เป็นจุดแห่งบุญญาบารมีและชื่อเสียงของ “หลวงพ่อเปิ่น”
เมื่อเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา หลวงพ่อได้เริ่มพัฒนาวัด ก่อสร้างเสนาสนะ ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เกิดด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ “หลวงพ่อ” ในเวลานั้น
๏ การสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคล
ณ วัดโคกเขมา นี่เอง “หลวงพ่อ” ได้สร้างพระเครื่องเป็นครั้งแรก ปัจจุบันพระเครื่องรุ่นนี้ของวัดโคกเขมาหายากมาก เพราะเป็นพระเครื่องที่มีประสบการณ์สร้างอภินิหาริย์ให้ผู้เช่าบูชาได้ ประจักษ์ หลังจากรุ่นรูปหล่อเนื้อทองแดงของท่านแล้ว พระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ จากวัดโคกเขมาจึงออกมาอีก เพื่อให้ศิษย์และประชาชนทั่วไปได้เช่าหาบูชากัน เพื่อนำเงินบำรุงพัฒนาวัด ที่วัดโคกเขมา หลวงพ่อออกพระเครื่องทั้งเนื้อผง (สมเด็จ) ทั้งรูปหล่อ ทั้งเหรียญพระบูชา (พระสังกัจจายน์) ทุกอย่างทุกองค์ที่หลวงพ่อสร้างมีค่ายิ่งสำหรับชาวบ้านที่รับไป นั่นหนึ่งละที่เป็นเหตุให้ชื่อองค์ท่านหลวงพ่อขจรไกลไปทั่วแคว้น ทุกอย่างเกิดจากประสบการณ์ของผู้ใช้ทั้งสิ้น
ทางด้านการปฏิบัติธรรม ทางด้านไสยศาสตร์ หลวงพ่อถือเคร่งในวัตรปฏิบัติจนเป็นที่เลื่อมใสแก่ผู้ที่มากราบไหว้พบเห็น และนั่นเองเป็นสาเหตุที่ทำให้ชื่อหลวงพ่อขจรไกลไปทั่วแคว้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า ที่กุฎิหลวงพ่อมีศิษยานุศิษย์มากันเนืองแน่นโดยไม่ขาดสาย
อีกอย่างที่กล่าวขานกันอย่างไม่มีวันจบสิ้นจวบจนปัจจุบัน ตั้งแต่วัดโคกเขมาเป็นต้นมา นั้นคือ “การสักยันต์” แน่ละหากกล่าวถึง “หลวงพ่อเปิ่น” ในหมู่ของชายฉกรรจ์ ตั้งแต่อดีตมาหากเป็นสมัยท่านแล้วละก็ ก็ต้องยกนิ้วให้กับหลวงพ่อ ในเรื่องไสยศาสตร์ เวทเมนตร์คาถาที่ส่งลงสู่ร่างกายของชายชาตินักสู้ในรูปแบบเฉพาะของท่านเอง ทุกอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อมถึงขนาดลงข่าวที่ว่าแม้สิ้นชีพไปแล้ว มีดผ่าตัดยังไม่สามารถเฉือนเนื้อลงได้เลย
หลวงพ่อในสมัยที่ท่านยังมิได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร หลวงพ่อท่านลงมือสักลงอักขระเวทด้วยองค์ท่านเอง มาภายหลังหลวงพ่อได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการสักให้แก่ศิษย์เป็นองค์สักแทน แล้วหลวงพ่อเพียงทำพิธีครอบให้เท่านั้น
เรื่องการสักของหลวงพ่อ กล่าวเพียงบทสรุปว่า ชอบเสือ ด้วยเหตุผลที่บอกเพียงสั้นๆ แก่ศานุศิษย์ว่า เสือเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ เพียงเสียงคำรามของเสือ สัตว์ทั้งหลายก็สงบเงียบ กลิ่นของเสือ สัตว์ทั้งหลายเมื่อรับสัมผัสจะยอมในทันที หลีกทันก็ต้องหลีก จัดอยู่ในมหาอำนาจ เสือรูปร่างสง่างาม เต็มไปด้วยอำนาจบารมี จัดอยู่ในมหานิยม ที่สำคัญ “หลวงพ่อ” เคยประจันหน้ากับเสือมาแล้ว กลางป่าลึก ระหว่างธุดงควัตรแถวป่าใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี จึงเกิดความประทับใจตั้งแต่นั้นมา
ช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมานั้น เป็นช่วงเวลาที่วัดเจริญรุดหน้าขึ้นอย่างสูง
๏ สู่วัดบางพระ
ในส่วนของวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อหลวงปู่หิ่ม อินฺทโชโต ได้มรณภาพลง และหลวงพ่อเปิ่นออกจาริกแสวงธรรม ทางวัดบางพระจึงเงียบเหงาลง ต่อมา “หลวง พ่อทองอยู่ ปทุมรัตน์” พระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อเปิ่น ได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจากหลวงปู่หิ่ม จนกระทั่งมรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระจึงว่างเว้นลง
ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันไปกราบอาราธนาหลวงพ่อเปิ่น ให้กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ ซึ่งในตอนแรกหลวงพ่อไม่ยอมมา ด้วยสาเหตุว่าไม่มีใครดูแลวัดโคกเขมา ซึ่งเป็นเหมือนกับวัดที่ท่านสร้างขึ้นมาใหม่ ภาระและความรับผิดชอบยังอยู่ที่ท่าน
ในส่วนของญาติโยมชาวโคกเขมานั้น ศรัทธาเคารพรักในองค์หลวงพ่อเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบเทียบเสมือนว่าตัวท่านเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจ ท่านเป็นศูนย์รวมพลังศรัทธา เป็นพระนักพัฒนาที่สร้างแต่ความเจริญรุ่งเรือง
ญาติโยมฝ่ายวัดบางพระ ก็ไม่ได้สิ้นความพยายาม เพียรกราบอาราธนาให้ท่านกลับมาพัฒนาวัดบ้านเกิดของท่านเอง ให้กลับคืนเหมือนเดิม เพราะชาวบ้านทั้งหลายได้ร่วมพิจารณากันแล้ว นอกจากท่านแล้วไม่มีใครที่จะทำให้วัดกลับมาเป็นดังเดิมได้ วัดบางพระมีแต่จะทรุดลงไปเรื่อยๆ ผลที่สุดท่านก็ยอมที่จะมา แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องหาพระมาดูแลวัดโคกเขมาให้ได้ก่อน ท่านจึงจะยอมกลับวัดบางพระ
ในครั้งนั้น กล่าวกันว่าชาววัดโคกเขมา เมื่อทราบว่าหลวงพ่อท่านจะต้องกลับไปพัฒนาวัดบางพระ ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน เสียดายก็เสียดาย แต่ทำอย่างไรได้เมื่อเหตุมันเกิดก็ต้องยอม แต่ยังอุ่นใจอยู่ว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นไปกราบปรึกษาหารือท่าน ก็คิดว่าจะได้รับคำแนะนำที่ดีมีประโยชน์ บางทีท่านอาจจะลงมือมาช่วยได้อีก
ในที่สุดหลวงพ่อท่านก็กลับมาพัฒนาวัดบาง พระ สมเจตนาของคณะศรัทธาชาวบ้าน นั่นคือการจบชีวิตการออกเดินธุดงค์ของหลวงพ่อเปิ่น
ถนนแห่งชายฉกรรจ์ผู้มีเลือดนักสู้ในหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือผู้ที่ทำงานเสี่ยงกับอันตรายนานาประการ ต่างก็มุ่งตรงไปยังวัดบางพระ เพื่อวัตถุมงคลที่หลวงพ่อประสิทธิ์ประสาทไว้ ด้วยเหตุนี้เองเท่ากับเป็นการนำพาความเจริญทั้งหลายมาสู่ถิ่นตามลำดับจนถึง ปัจจุบัน
หลวงพ่อเข้ารับภาระในวัดบางพระเวลานั้น นับเนื่องแล้วเป็นการพัฒนาที่หนักเอาการ ก่อนอื่นจัดระเบียบของวัดให้เข้าที่เข้าทางเสียก่อน ได้แก่ การจัดเขตพุทธาวาส และสังฆาวาสให้อยู่เป็นสัดส่วน เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานั้น เขตพุทธาวาสและสังฆาวาสยังคละเคล้าปะปนกันอยู่ ไม่เป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้มาพบเห็น
หลังจากได้วางโครงการเรียบร้อยแล้ว ให้เอาเขตสังฆาวาสทั้งหมดไปรวมอยู่ทางด้านหลัง ส่วนข้างหน้าให้เป็นเขตพุทธาวาส ได้แก่ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ มณฑปพระพุทธบาท มณฑปบูรพาจารย์ เป็นต้น
ในวันที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ จึงแต่งตั้งให้พระใบฎีกาเปิ่น ฉายา ฐิตคุโณ อายุ ๕๓ พรรษา ๒๗ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ โดยมีเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ประทับตราประจำตำแหน่ง
หลังจากได้วางโครงการแยกแยะส่วนต่างๆ แล้ว หลวงพ่อได้ย้ายและสร้างกุฏิสงฆ์ เพื่อให้พอกับพระภิกษุที่อยู่จำพรรษา และพัฒนาวัดมาโดยตลอดอย่างไม่หยุดยั้ง
ด้วยการพัฒนาวัด และพร้อมด้วยจริยาวัตรอันงดงาม ปลูกศรัทธาปสาทะของผู้พบเห็น บำเพ็ญในสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างสูง และด้วยการที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทางคณะสงฆ์และทางราชการเห็นความสำคัญ จึงได้ประกาศเกียรติคุณความดีให้ปรากฏเป็นอนุสรณ์ตลอดมา
หากสาธุชนท่านใดได้มีโอกาสเข้ากราบพระคุณเจ้าหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จะเห็นได้ว่าองค์หลวงพ่อนั้น มีความอิ่มบุญ อิ่มกุศล ดูดวงหน้าท่านนั้นมีแต่ความสงบ มีแต่ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่กว่าที่ท่านหลวงพ่อเปิ่นจะสร้างสมบุญบารมีถึงชั้นนี้นั้น องค์ท่านมีประวัติที่มาพิสดารพอประมาณ ซึ่งเป็นการต่อสู้ดิ้นรนในการศึกษาหาวิชาความรู้ ที่ตัวเองต้องค้นหามาตลอดในการเรียนรู้แต่ละครั้ง แต่ละอาจารย์
๏ ลำดับสมณศักดิ์
ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงพ่อเปิ่นได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระใบฎีกา” ฐานานุกรมในพระอุดมสารโสภณ เป็นช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา อันเป็นเวลาที่วัดโคกเจริญรุดหน้าขึ้นอย่างสูงสุด
เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ “พระครูฐาปนกิจสุนทร” ช่วงนี้นี้เองที่วัดมีการออกพระเครื่องและวัตถุมงคล เพื่อทดแทนในน้ำใจแห่งศรัทธาที่คณะศิษยานุศิษย์และชาวบ้านได้ร่วมกันในการ พัฒนาวัดบางพระนั่นเอง
พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระอุดมประชานาถ”
๏ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ด้วยการพัฒนาวัดและชุมชนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ถวายปริญญาบัตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ แก่องค์หลวงพ่อ แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อได้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ของประชาชนโดยแท้ ท่านไม่ทิ้งธุระทางการศึกษา พัฒนาสาธารณะประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาไว้มาก เพื่อเป็นแนวทางแก่พระภิกษุ-สามเณรในพระพุทธศาสนา
๏ เพชรน้ำหนึ่งแห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี
หลวงพ่อท่านได้มองถึงประโยชน์ของการศึกษาวัฒนธรรมความเจริญของท้องถิ่นแห่ง นี้เมื่อสมัยก่อน ในการที่จะพัฒนาบุคคลให้มีความรู้คู่คุณธรรม และมีจิตสำนึกรักภูมิลำเนาบ้านเกิดของตน โดยที่ท่านได้วางโครงการก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน” ที่ตั้งใจจะสร้างไว้นานแล้ว เพื่อเป็นที่รวบรวมสรรพวิชาความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และของเก่าแก่ของแถบลุ่มน้ำนครชัยศรี บริเวณตำบลบางแก้วฟ้านี้ ที่เมื่อครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งที่มีการติดต่อค้าขายกัน มีชาวบ้านอยู่มากมาย เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาความรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งในบริเวณนี้ ซึ่งสามารถดูได้จากโบสถ์เก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เรือสำเภาโบราณที่มีเจดีย์เล็กๆ บนเรือนั้น
ส่วนวิชาความรู้ต่างๆ ในสายพระเวทคาถา ท่านเองได้ศึกษามามากจากหลวงปู่หิ่ม (พระอุปัชฌาย์), หลวงพ่อโอภาสี, หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก และหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน เป็นต้น และออกฝึกปฏิบัติทางจิตตามแนวทางในพระพุทธศาสนา เพื่อให้รู้ถึงสภาวธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตของตน โดยปฏิบัติธุดงควัตรในสถานที่ต่างๆ
ท่านเองเป็นตัวอย่างของพระนักศึกษา ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรมอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งสามารถนำวิชาความรู้ต่างๆ มาช่วยเหลือชี้นำแนวทาง และพัฒนาจิตใจแก่พุทธศาสนิกชนได้ หลวงพ่อเองเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และมีความเมตตาต่อผู้ที่มาหาท่าน รวมถึงสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณวัดบางพระ
หลวงพ่อได้ฝากปริศนาธรรมต่างๆ โดยการปฏิบัติและสร้างสิ่งต่างๆ ให้เห็นเป็นประจักษ์ทั้งรูปธรรมและนามธรรมหลายต่อหลายอย่างซึ่งปรากฏแก่ผู้ ที่ใกล้ชิดท่าน อันพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งได้ระลึกเสมอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ได้ยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ตามพระวาจาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสฝากไว้ครั้งสุดท้าย นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อเป็นพระสุปฏิปันโณ ผู้มีศีลและจริยวัตรอันงดงามหมดจดแล้วด้วยดี ในขณะที่ธาตุสี่ขันธ์ห้ายังประชุมอยู่ ถือได้ว่าเป็นพระแท้ที่หาได้ยากยิ่งในยุคนี้
๏ การมรณภาพ
หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ ได้ละสังขารจากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย เวลา ๑๐.๕๕ นาฬิกา ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ สิริรวมอายุได้ ๗๙ พรรษา ๕๔ ยังความอาลัยเศร้าโศกเสียใจเป็นยิ่งนักแก่ปุถุชนจิต แต่ได้แสดงให้เห็นถึงมรณัสสติแก่คณะศิษยานุศิษย์ สำหรับคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำไว้ในพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย จะเป็นตำนานแห่งแผ่นดินไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เป็นเครื่องเตือนสติให้พุทธศาสนิกชนได้รู้จักและปฏิบัติสืบสานกันต่อไป
๏ พระธรรมคำสอน
อาตมาให้คำสอนที่พุทธศาสนิกชนควรยึดถือปฏิบัติ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขดังนี้
(๑) ทำจิตใจให้สว่างก่อนที่จะสอนผู้อื่น
การทำจิตใจให้สว่างนั้นบุคคลต้องปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ความมัวเมา ฯลฯ ถ้าทุกคนละได้ซึ่งสิ่งเหล่านี้การที่จะสอนให้คนอื่นทำตามย่อมทำได้ง่าย เพราะมีตัวอย่างที่ดีที่ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ถ้ายังทำไม่ได้ในสิ่งเหล่านี้ ย่อมสอนให้คนอื่นให้ทำตามก็ทำได้ยาก เช่น การที่พ่อบ้านสอนให้ลูกอย่าสูบบุหรี่ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่พ่อยังสูบบุหรี่อยู่ ลูกก็ไม่เชื่อฟังเพราะคำห้ามของพ่อไม่ถูกลูกจะรู้สึกว่าพ่อยังสูบได้ ลูกก็ย่อมสูบได้ ถึงแม้ว่าพ่อจะอ้างกับลูกว่าพ่อติดบุหรี่มานานแล้วแก้ไขไม่ได้ ลูกอย่ามาเอาอย่างพ่อเลย ลูกก็คงจะไม่เชื่อไม่ฟัง
(๒) จงมีความเพียร
พระพุทธพจน์บทหนึ่งว่า “วิริเยน ทุกขมจฺเจติ” บุคคลที่จะพ้นทุกข์ได้เพราะต้องอาศัยความเพียร ความเพียรนั้นหมายถึง ความมีมานะบากบั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนานาประการ อดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ในการทำงานทุกอย่างย่อมมีทั้งความสบายและความลำบาก ยิ่งงานนั้นลำบากมากเพียงใด ยิ่งต้องอาศัยความเพียรมากเท่านั้น จึงจะช่วยให้งานดำเนินไปได้ด้วยดีและมีความก้าวหน้า นอกจากนั้นแล้วจะต้องมีการบังคับตนเองให้เพียรสร้างแต่ความดีความงาม เพียรละความชั่วให้หมดไปจากตนความเพียรจึงถือเป็นความสำคัญอย่างหนึ่ง
(๓) จงขยันทำงานไม่เกียจคร้าน
ความขยันหมายถึง การที่หมั่นประกอบกิจการงานอยู่เสมอ ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ไม่นิ่งดูดายต่อสิ่งที่สามารถทำได้ ดังคำบาลีที่ว่า “อุฏฐานะ” แต่ถ้าบุคคลใดปล่อยให้ “อนุฏฐานะ” คือ ความเกียจคร้านซึ่งความเกียจคร้านมีขึ้นเมื่อใด ความกระตือรือร้นจะไม่มีเกิดขึ้น กล่าวคือ อำนาจฝ่ายต่ำเข้าครอบงำ เช่น ไม่ทำงาน นั่งๆ นอนๆ ประกอบอาชีพที่ทุจริต ในที่สุดก็ประสบ “อนัตถ” คือ ความชั่ว เสียหายตลอดชีวิต
(๔) รู้จักอดออม
การออมนั้นหมายถึง การอดทนต่อความอยากทั้งปวง เช่น อยากกิน อยากซื้อ อยากใช้ ฯลฯ ความอยากเหล่านี้เป็นบ่อเกิดของการจ่าย ไม่กระเหม็ดกระแหม่ ไม่รู้จักประหยัด ต้องการแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งความอยาก ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย แต่ถ้ารู้จักใช้จ่ายตามกำลังทรัพย์ที่มีอยู่ รู้จักออมถนอมทรัพย์ได้ เป็นการสร้างความอบอุ่นในครอบครัว เป็นสิ่งที่เชิดชูฐานะของตนเองให้สูงกว่าความเป็นอยู่เดิม มีคนนับหน้าถือตา มีคนยกย่องเชื่อถือ และสมัครที่จะเป็นบริวารของผู้มีเงินมีทรัพย์ทั้งหลาย สมกับสุภาษิตที่ว่า “มีเงินนับว่าเป็นน้อง มีทองนับว่าเป็นพี่” แต่ถ้าขัดสนเงินทองโดยปราศจากการอดออมไว้ทำให้ขาดความเชื่อถือไม่มีคนคบ หาสมาคมด้วย ดังสุภาษิตตอนหนึ่งว่า “ยากจนเงินทอง พี่น้องไม่มี” ดังนั้นจึงควรรู้จักอดออม ด้วยว่าทรัพย์สินนั้นจะสามารถบันดาลความสุข ความสะดวก ความสบาย ให้แก่บุคคล สังคม และประเทศชาติ
(๕) คบคนดีเป็นเพื่อน
การเลือกคบคนดีย่อมพาตัวเองให้มีความสุข ความเจริญ คนดีนั้นก็คือ คนที่ประพฤติดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบแต่ความดี มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เพื่อนดีหรือคนดีจะเป็นเกราะคุ้มภัยให้แก่เราเป็นอย่างดี เมื่อมีใครว่าเพื่อนในทางที่ไม่ดี จึงกล่าวได้ว่า การคบคนดีย่อมนำทางไปสู่ความสว่างแห่งจิตใจ ความเจริญของชีวิต การปฏิบัติตนที่ถูกต้องและอยู่ในโลกอย่างมีความสุข
(๖) จงทำมากกว่าพูด
มิใช่พูดแล้วทำไม่ได้ การทำสิ่งใดก็ตามควรตั้งใจและทำให้สำเร็จ การที่พูดแล้วไม่ทำหรือทำไม่ได้ผู้นั้นจะไม่เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วๆ ไป ถ้าเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่จะไม่มอบงานที่สำคัญให้ เพราะกลัวว่าทำไม่สำเร็จหรือไม่ทำ อันเป็นผลให้งานนั้นเกิดความเสียหาย ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ถ้าพูดสิ่งใดกับผู้น้อยแล้วควรทำตามที่พูดไว้ เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อถือ ไว้วางใจ มอบความเป็นผู้นำให้ ในสังคมทั่วๆ ไปก็เช่นกัน บุคคลที่อยู่ในสังคมควรจะได้ร่วมมือร่วมใจกันทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อ ประเทศชาติ สัญญากับใครไว้ต้องทำให้ได้ไม่พูดเลื่อนลอยโดยไร้จุดหมาย จงเป็นผู้ทำมากกว่าผู้พูด
(๗) เลี้ยงชีพให้สมฐานะของตัวเอง
ทุกคนควรรู้จักจับจ่ายใช้สอยในทรัพย์สมบัติ โดยประหยัดตามฐานะของตนเอง รู้จักใช้จ่ายให้เหมาะสมตามฐานะไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เก็บออมไว้เมื่อคราวจำเป็น เมื่อคราวเจ็บไข้ เมื่อคราวฉุกเฉินไม่มีใครที่จะช่วยเราได้นอกจากตัวของเราเอง ดังนั้น จึงควรเป็นผู้รู้จักประมาณในทรัพย์สินในฐานะความเป็นอยู่และเลี้ยงชีพในทาง ที่ถูกที่ควร
(๘) จงอย่าเป็นคนลักขโมย
การที่แต่ละคนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์และหมั่นเก็บหอมรอมริบไว้ เพื่อใช้จ่ายในวันข้างหน้า แต่มาถูกขโมย ฉ้อโกง หรือโจรปล้นทรัพย์สิ่งของเหล่านั้นไป ย่อมทำให้ชีวิตเดือดร้อนครอบครัวลำบาก นี่เป็นบาปอย่างหนึ่งที่ทุกคนควรจะละเว้น อย่าได้ประพฤติผิดด้วยการลักขโมย พระพุทธเจ้าได้บัญญัติศีลข้อนี้ไว้ เพื่อให้ทุกคนรู้จักสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ยักยอกฉ้อโกง ที่ดิน ไร่นา และสิ่งที่ผู้อื่นหามาด้วยความลำบาก การละเว้นซึ่งการลักขโมยนับว่าประพฤติตนอยู่ในศีลที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่ง สอนไว้ดังนี้ “อทินฺนา ทานา เวรมณี” หมายถึง การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
(๙) เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
หลักแห่งความประพฤติของมนุษย์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ควรผิดลูกผิดภรรยาหรือสามีของผู้อื่นโดยที่ผู้อื่นไม่อนุญาต การเป็นสามีภรรยากันก็ต้องมีความซื่อตรงต่อกัน ไม่นอกใจหรือเอาใจไปให้กับคนอื่น ด้วยการทำหน้าที่ของตนในฐานะภรรยาที่ดี สามีที่ดีและลูกที่ดี การที่ชายหญิงมีชีวิตคู่อยู่ร่วมกันจะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ต่างฝ่ายต่างมอบหมายชีวิตให้แก่กัน มอบความรัก และความภักดีให้แก่กันเป็นทองแผ่นเดียวกัน ชีวิตครอบครัวจึงจะสุขสมบูรณ์ ไม่เกิดปัญหาแตกร้าวหรือปัญหาครอบครัวแตกแยก อันจะนำมาซึ่งปัญหาสังคมได้
(๑๐) อย่ากล่าวคำหยาบอันเป็นการก้าวร้าวผู้อื่น
สังคมมนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขต่อเมื่อทุกคนมีความเคารพให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน การเคารพผู้อาวุโส นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ปัญหาการงานหรือปัญหาสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เนื่องจากสังคมไม่เคารพผู้อาวุโส ต่างทำตนเสมอท่านผู้ที่มีอาวุโสน้อยจะพูดกับผู้อาวุโสมากเป็นไปในทำนองล้อ เลียน ก้าวร้าว หรือใช้คำหยาบ คำไม่สุภาพ หรือพูดในลักษณะก้าวร้าวไปถึงบิดามารดาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งทนต่อคำพูดไม่ได้ จึงเกิดปัญหาทะเลาะวิวาทกันขึ้น ดังนั้นผู้ที่อยู่ในศีลธรรมควรหลีกเลี่ยงการประพฤติในข้อนี้ให้มาก เพื่อสังคมจะได้อยู่อย่างมีความสุข
(๑๑) รู้จักบริจาคทรัพย์
การบริจาคทรัพย์นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เป็นการช่วยเหลือ แด่พระศาสนาด้วยการบริจาคปัจจัย ทรัพย์สิ่งของอันจะเป็นประโยชน์ทางหนึ่งในการบริจาคนั้น ผู้บริจาคควรคำนึงถึงฐานะของตนเองด้วย บริจาคแต่พองาม สมควรแก่ฐานะ มีทรัพย์น้อยก็บริจาคน้อยมีทรัพย์มากก็บริจาคมาก การบริจาคทรัพย์ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมบุญกุศล หรือเงินทองที่มีอยู่ให้มากยิ่งขึ้น การที่บางคนไม่บริจาคทรัพย์หรือให้ทานแก่ผู้อื่นเลย ก็ถือว่าไม่ได้สั่งสมบุญกุศล ไม่เพิ่มเติมทรัพย์สมบัติ ทุกคนควรจะสำนึกไว้เสมอว่าเราเกิดมามีแต่ตัว ตายไปก็มีแต่ตัวทรัพย์สมบัติสิ่งของที่สะสมไว้มากมายนั้น เมื่อตายไปแล้วเราก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย แม้แต่อาหารที่มีผู้เอามาให้ก็ไม่สามารถจะกินได้ ดังนั้น มนุษย์เราควรสร้างบุญกุศลด้วยการบริจาคทรัพย์ไว้บ้างจะเป็นสิ่งดีแห่งชีวิต
(๑๒) สร้างบุญศลทั้งกลางวันและกลางคืน
การสร้างบุญกุศลนั้นไม่ต้องรอวัน รอเวลา ไม่ว่าเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ก็สามารถสร้างบุญกุศลได้ เมื่อมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือวันธรรมสวนะ พุทธศาสนิกชนควรจะได้บำเพ็ญศีล บำเพ็ญทาน สร้างกุศลด้วยการตักบาตรในตอนเช้า ฟังเทศน์ในตอนบ่าย ฟังธรรมะในตอนค่ำ การที่เรายึดมั่นในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าย่อมนำมาซึ่งความสุข ความสำเร็จ ความสมหวังในชีวิต และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
(๑๓) ระลึกถึงสังขารไม่เที่ยงเสมอ
ต้องเข้าใจด้วยว่ามนุษย์ที่เกิดมาต้องผจญกับการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อเกิดมาแล้วสามารถดำเนินชีวิตไปด้วยดี ก็ทำให้มีความสุขความสำเร็จ เมื่อถึงวัยแก่ก็ต้องรับสภาพสังขารนั้นทั่วทุกคน ไม่มีใครที่จะคงทนในความเป็นเด็กอยู่ได้ตลอดไป ความเจ็บความไข้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ที่อยู่ในโลกจะต้องได้รับสภาพ ของความทุกข์ที่มาจากความเจ็บป่วยทางศาสนามีความเชื่อว่าบุคคลใดที่ไม่มีโรค ภัยไข้เจ็บหรือไม่เจ็บป่วยเลยก็เพราะคนๆ นั้นไม่เบียดเบียนสัตว์ มีบุญกุศล มีเมตตาต่อบุคลทั่วๆ ไป ไม่ว่าบุคคลที่ให้ความช่วยเลหือนั้นจะเป็นใครก็ตาม
สำหรับความตาย เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนที่ทุกคนเกิดมาแล้วย่อมมีชีวิตที่ดับสูญ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวันและเวลา มนุษย์ไม่ควรอาลัยอาวรณ์ในเรื่องของความตาย แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ คุณงามความดี ในชีวิตหนึ่งที่เกิดมาเราทำคุณงามความดีอะไรไว้บ้าง เมื่อตายไปเรามีอะไรติดตัวไปบ้าง การที่มนุษย์ฆ่าฟันกันก็เนื่องจากความโลภโมโทสันเป็นเหตุ ชีวิตนั้นๆ จึงสั้นลงไม่ได้ทำคุณงามความดีหรือทำก็แต่น้อย เมื่อตายไปไม่มีอะไรที่เป็นความดีเด่นชัดไว้ให้ลูกหลาน จึงขอให้พึงระลึกว่าในเมื่อสังขารไม่เที่ยงแล้ว สิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนคือ ความดี
(๑๔) มีความกตัญญูต่อบิดามารดา
บิดามารดาเป็นเสมือนพระของลูก ที่ลูกๆ ทุกคนควรมีความกตัญญูรู้คุณ การตอบแทนพระคุณบิดามารดาควรทำในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เช่น จัดหาอาหารที่ดีมีประโยชน์ ให้ท่านอยู่อย่างมีความสุข ฯลฯ สิ่งใดที่ควรช่วยเหลือหรือรับใช้ท่านได้ก็จงทำ สังคมไทยทุกวันนี้จะเห็นว่าบิดามารดามักจะอยู่ตามสถานสงเคราะห์คนชรา ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามามาก จึงทำให้คนไทยบางส่วนที่มีชีวิตครอบครัวเปลี่ยนไป แต่ก่อนครอบครัวไทยจะเป็นครอบครัวที่ใหญ่ คือมีทั้งปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน อยู่ด้วยกัน แต่ปัจจุบันจะอยู่กันครอบครัวเล็ก โดยให้พ่อแม่อยู่กันเองตามลำพังหรืออยู่สถานสงเคราะห์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความสมัครใจหรือถูกบีบบังคับก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะยึดถือในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชนก็คือ ความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา
(๑๕) จงทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ควรยึดมั่นในการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ การประพฤติปฏิบัติตัวดีย่อมนำมาซึ่งความเจริญของครอบครัวการมุ่งมั่นที่จะ ปฏิบัติตนให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีก็นับว่าเป็นสิ่งดีต่อประเทศชาติ การที่บุคคลยึดมั่นในบุญและบาป ย่อมปฏิบัติแต่สิ่งดี การทำสิ่งไม่ดีก็เป็นบาป การทำบุญนั้นควรทำทั้งที่ลับและที่แจ้ง คนที่ใฝ่ในบุญกุศลนั้นไม่เป็นเพียงเฉพาะต่อพระสงฆ์ หรือพระธรรมคำสั่งสอนเท่านั้น แต่ควรมีเมตตากรุณาต่อบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงต่อบุคคลอื่น เมื่อเห็นเขาลำบากถ้าพอช่วยได้ก็ควรช่วย โดยคำนึงถึงฐานะความเป็นอยู่ของเรา ช่วยแล้วต้องช่วยให้เราอยู่ได้ไม่ใช่ช่วยแล้วเราอดหรือไม่มี สิ่งที่ช่วยไปก็ไม่ได้บุญ กล่าวคือคำนึงถึงฐานะของตนเองด้วย เมื่อบุคคลที่อยู่ในสังคมประเทศชาติมีความเอื้ออาทร ห่วงใย ช่วยเหลือกัน ก็เป็นทางหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติดำรงอยู่ได้
(๑๖) ทำความดีตาย ดีกว่าทำความชั่วตาย
มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้จงประกอบแต่ความดี เมื่อทำความดีแล้วตาย จะได้รับการสรรเสริญยกย่องจากผู้ที่อยู่เบื้องหลัง แต่ถ้าทำความชั่วแล้วตายจะมีแต่คนสาปแช่ง
(๑๗) ไม่เบียดบังทรัพย์สินผู้อื่น
การเบียดบังทรัพย์สินหรือการรีดนาทาเล้นบนความทุกข์ยาก หรือน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ในฐานะเป็นชาวพุทธควรขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีต่อสังคม การที่คนบางคนมีชีวิตที่สุขสบายมีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่สิ่งที่ได้มานั้นได้มาจากการโกงทรัพย์ผู้อื่น หรือเบียดเบียนทรัพย์สินผู้อื่น หรือรีดนาทาเล้นด้วยการยักยอกทรัพย์สินจากผู้อื่น โดยเจ้าของไม่ยินยอมให้ ถือเป็นบาปอย่างหนึ่งที่ต้องทวงตามชดใช้หนี้กันต่อไป
(๑๘) ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอยู่เพราะกรรมเก่าตั้งแต่โบราณ
คนไทยมีความเชื่อในเรื่องของกรรม กฎแห่งกรรม และสิ่งที่เป็นอยู่ ดำเนินอยู่ ประสบอยู่ เป็นเพราะผลของกรรมที่ได้ทำมา บางคนเกิดมามีความสุขมีเงินทองมากมาย เนื่องจากทำกรรมไว้ดี และเมื่อเกิดมาในชาตินี้ได้ประกอบแต่ความดี บริจาคทรัพย์ ฯลฯ ผลของความดีนั้นจะส่งเสริมในภพต่อไป แต่บางคนเกิดมาลำบากมีแต่ความทุกข์ในปัจจัยสี่ ไม่มีทรัพย์สมบัติ ก็เชื่อว่าทำกรรมไว้ไม่ดี แต่ถ้าเกิดมาแล้วทำแต่ในสิ่งดี ผลบุญกุศลก็จะช่วยให้เขาเกิดมาในสิ่งดี แต่ถ้าไม่ทำอะไรไว้เลยก็ย่อมได้รับกรรมมากยิ่งขึ้นในภพต่อไป ดังนั้นทุกคนควรเร่งสร้างความดี เพราะทุกสิ่งทุกอย่างยังไม่สายเกินไป
(๑๙) การทำความดีไม่ต้องโอ้อวด
เมื่อคิดจะทำความดีก็ตั้งอกตั้งใจทำไม่ต้องพูดหรือกล่าวคำว่าทำ การพูดโอ้อวดเอ่ยถึงความดีของตนเอาไว้ไม่ควรทำ ทำสิ่งใดไว้โดยไม่ต้องพูด เมื่อกาลเวลาผ่านไปคนก็จะรู้ความดีของเราเอง
(๒๐) จงเป็นผู้ให้
การให้ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน ให้สิ่งของหรือให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนควรยึดถือปฏิบัติ การให้ไม่ต้องหวังสิ่งตอบแทนเมื่อให้ไปแล้วเรารู้สึกสบายใจ เกิดความพอใจ ก็ควรทำต่อๆไป แม้ว่าบางครั้งเมื่อให้ไปแล้ว แต่ต้องอยู่ในลักษณะของคนที่ปิดทองหลังพระก็ต้องยอม
(๒๑) จงมีความเที่ยงธรรม
ความเที่ยงธรรม ความถูกต้อง เป็นสิ่งที่ควรยึดถือปฏิบัติไม่เอนเอียงในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ควรให้ความเที่ยงธรรมแก่ผู้น้อยเท่าเทียมเสมอกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ลำดับความสำคัญก่อนหลัง
(๒๒) มีความซื่อสัตย์สุจริต
ความซื่อสัตย์สุจริตควรมีอยู่ในจิตใจของผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ ประกอบแต่บุญกุศล จะคิดอะไรจะทำอะไร ให้ยึดถือความสุจริตใจเป็นสำคัญ
(๒๓) ทำงานใหญ่ต้องอดทน
ความอดทนจะช่วยให้งานที่ทำบรรลุผลสำเร็จได้อย่างดี การทำสิ่งใดก็ตามย่อมมีผู้กล่าวหา ติฉินนินทา ผู้มีความอดทนย่อมตัดสิ่งเหล่านี้ไปไม่นำมาคิดให้เกิดทุกข์ ริดรอนความอดทน
(๒๔) จงยิ้มสู้ จงอยู่อย่างยิ้มสู้กับสิ่งที่ลำบาก
สิ่งที่เลวร้ายไม่ช้าไม่นานก็คงจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ประสบความสำเร็จอย่างไม่เคยคิดมาก่อน
คำสอนเหล่านี้ถ้าทุกคนได้ยึดถือปฏิบัติ ไม่มากก็น้อยจะช่วยให้อยู่ในสังคมอย่างปกติสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและในการงานที่ปฏิบัติอยู่ เมื่อประเทศชาติมีบุคคลเหล่านี้อยู่มากก็จะช่วยจรรโลงให้ประเทศของเราเจริญ รุ่งเรื่องสืบต่อไป
คาถาบูชาหลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ
(นะโม ๓ จบ)
อิติสุคคะโต อะระหัง พุทโธ นะโมพุทธายะ
ฐิตคุโณ อาจาริโย จะ มหาเถโร มหาลาโภ
สัพพะสุขขัง จะมหาลาภัง สัพพะโภคัง สัพพะธะนัง ภะวันตุเม.
อิติสุคคะโต อะระหัง พุทโธ นะโมพุทธายะ
ฐิตคุโณ อาจาริโย จะ มหาเถโร มหาลาโภ
สัพพะสุขขัง จะมหาลาภัง สัพพะโภคัง สัพพะธะนัง ภะวันตุเม.
คาถาบูชาอิทธิมงคล
(คงกระพัน)
(คงกระพัน)
พระพุทธังรักษา พระธัมมังรักษา พระสังฆังรักษา พระบิดารักษา พระมารดารักษา อิระชาคะตะระสา นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอัง อะสังวิสุโลปุสะพุภะ สังวิทาปุกะยะปะ อาปามะจุปะ ทีมะสังอังขุ ปาสุอุชา สะทะวิปิปะสะอุ ตะมัตถังปะกา เสนโต สัตถา อาหะ กันหะ เนหะ นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะพะกะสะ มะอะอุ ฯ
คาถาบูชาอิทธิมงคล
(เมตตามหานิยมโชคลาภ)
(เมตตามหานิยมโชคลาภ)
- นะพุชาลิ นะชาลิติ พุทธะเมตตา ธัมมะเมตตา อุเมตตาจะมหาราชา สัพเพชะนา พะหูชะนา สัพพะสะเนหาจะปูชิโต พระฉิมพลี เทวะรักษาอานุภาเวะ สัพพะสิทธิ ภะ วันตุเม ฯ
- มะเมตตาจะมหาราชา อะเมตตาจะมหาเสนา อุเมตตาจะมหาชะนา สัพพะสะเนหาจะปูชิโต สัพพะสุขังจะมหาลาภัง สัพพะโกทังวินาศสันติ ฯ
- นะเมตตา โมกรุณา พุทปราณี ธายินดี ยะเอ็นดู พระพุทโธ อะระหัง จังงัง เมตตา สัพพะโกทัง วินาศสันติ นะชาลีติ มะอะอุ สิวังพรหมา จิตตัง มานิ มานะ ฯ
คาถาบูชา นางกวัก
โอมมหาสิทธิโชค อะอุโอม บรมปู่เจ้าเขาเขียว มีลูกสาวคนเดียวให้ชื่อว่า นางกวัก ชายเห็นชายรัก หญิงเห็นหญิงรัก ประสิทธิให้แก่กู คนรู้จักทั่วหน้า โอมพวกพ่อค้า พากูถึงเมืองแมน กูได้หัวแหวนพันทะนาน กูค้าสารพัด การก็ได้กำไร แคล่วคล่อง กูจะค้าเงินก็เต็มกอง กูจะค้าทอง ทองก็ได้เต็มหาบ เพียงวันนี้เป็นร้อย สามหาบมาเรือน สามเดือนเป็นเศรษฐี สามปีเป็นพ่อค้าสำเภา พระฤาษีเจ้า ประสิทธิ์ให้แก่กูคนเดียว สวาหะ ฯ
คาถาบทนี้ ท่านว่า เป็นคาถานางกวัก นับถือสืบต่อกันมาแต่โบราณกาล ทำน้ำมนต์ ประพรมสินค้า เพื่อนำไปค้าขายแลกเปลี่ยน ทำมาค้าขึ้น มีกำไร ดีนักแล.
Link;
No comments:
Post a Comment